ปตท.พับมาบตาพุดแสนล้าน โวยพิษซัลเฟอร์อ่วมค่าปรับหมื่นล.
ปตท.เตรียมทบทวนแผนลงทุนปิโตรเคมีมาบตาพุด 1 แสนล้าน แต่ยังเดินหน้าโรงแยกก๊าซฯ หน่วย 7 ด้านผู้ผลิตยางยักษ์ใหญ่ "บริดจสโตน-มิชลิน" จับมือ สอท.เตรียมยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองกลาง ระเบียบใหม่สารอันตรายซัลเฟอร์เจอดีเอสไอบุกจับ โดนภาษีย้อนหลัง บวกค่าปรับกว่าหมื่นล้าน
นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษว่า ปตท.ต้องติดตามสาระและกติกาของประกาศดังกล่าว ซึ่งยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน โดยเตรียมรายงานในที่ประชุมบอร์ดวันที่ 20 มี.ค.นี้ จะมีโครงการไหนที่สร้างแล้ว โครงการไหนที่ได้รับการอนุมัติแล้ว และกำลังทยอยลงทุนมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท เช่น โรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 6 และส่วนต่อขยายต่างๆ ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างยื่นอีไอเออย่างโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 7 และส่วนต่อขยาย มูลค่าลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท ต้องรอดูความชัดเจนก่อน
"การประกาศเขตควบคุมมลพิษที่กังวลตอนนี้ คือ ความเข้าใจยังไม่มากพอว่ากติกาเป็นอย่างไร เพราะหากไม่เข้าใจก็เดินต่อไม่ได้ ซึ่ง ปตท.มีการลงทุนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 49 แล้ว" นายจิตรพงษ์กล่าว
สำหรับการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วย 7 ยังเดินหน้าตามแผนเดิม แต่อยู่ระหว่างการศึกษาปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากปริมาณสำรองก๊าซฯ จากอ่าวไทยที่ส่งป้อนให้โรงแยกก๊าซฯ หน่วย 1-6 มีปริมาณสำรองประมาณ 20 ปี หรือ 10 กว่าล้านล้านตัน ซึ่งยังไม่มากพอที่จะป้อนหน่วยที่ 7 เพราะต้องมีปริมาณสำรองก๊าซฯ เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3-4 ล้านล้านตัน คาดว่าน่าจะสรุปแผนภายในปลายปีนี้
ทั้งนี้ โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 มีแผนเริ่มก่อสร้างอีก 1-2 ปี ใช้เวลาก่อสร้าง 30 เดือน มูลค่าการลงทุน 2 หมื่นล้านบาท กำลังผลิต 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสารซัลเฟอร์กำลังพิจารณายื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองกลาง กรณีคำสั่งศาลให้ทุเลาการบังคับตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ลงนามโดยนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย โดยความเห็นของคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ยกเลิก "สารซัลเฟอร์" จากรายชื่อวัตถุอันตรายในบัญชีท้ายประกาศ ฉบับที่ 1 พ.ศ.38 ซึ่งไม่ยุติธรรม เพราะเดิมเอกชนนำเข้ามาเป็น 10 ปี เมื่อมีการประกาศเป็นวัตถุอัตรายในปี 49 ผู้ประกอบการนำเข้าปกติผ่านกรมศุลากรแบบถูกต้องและไม่ต้องแจ้งนำเข้าต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม จนกระทั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) บุกจับระบุว่าผู้นำเข้าซัลเฟอร์ 27 ราย ทำผิดกฎหมาย ทำให้ต้องจ่ายภาษีย้อนหลัง 2,000 กว่าล้านบาท รวมค่าปรับอีก 4 เท่า นับหมื่นกว่าล้านบาท
การเข้าจับกุมของดีเอสไอกระทบต่อภาพลักษณ์การลงทุน ที่ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่นำเข้าซัลเฟอร์มาผลิตยางรถยนต์และเคมีภัณฑ์ เช่น บริดจสโตน มิชลิน โยโกฮามา และไทยเรยอน ซึ่งสารดังกล่าวตามหลักสากลไม่ถูกจัดเป็นวัตถุอันตรายใดๆ แต่ที่อันตราย คือ สารประกอบซัลเฟอร์ โดยเฉพาะกรดซัลฟุริค.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น