ตัวหลักเลยคือกระทบความเชื่อมั่นของผู้ซื้อและนักลงทุน โครงการเมกกะโปรเจคของโลก สวรรค์ดูไบ จะกลายเป็นสวรรค์ร้างหรือเปล่ายังไม่รู้ ภาพสวรรค์สร้างได้ แต่คนที่จะไปตรงนั้น ตอนนี้ กลายเป็นนักธุรกิจ คนทำงานก่อสร้าง ภาพสวรรค์ลวงตาหายไป อะไรจะเกิดขึ้น คนไทยที่ไปทำงานก่อสร้างล่ะ จะทำงานต่อหรือกลับบ้าน ถ้ากลับมาบ้าน งานที่บ้านก้อยังไม่มีอะไรให้ทำ แล้วจะทำอะไร
วิธีแก้ปัญหา : สร้างภาพลวงตาใหม่ ขุดเลยคอคอดกระ กระทบคนในพรรคบ้าง ก้อช่างมันเถอะ
ข่าวจากเนชั่น
วิกฤติดูไบ บทเรียนนักลงทุน
29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 07:28:00
หลายปีที่ผ่านมา ความเฟื่องฟูของดูไบดูเหมือนยั้งไม่อยู่จริงๆ เพราะรัฐแห่งนี้อวดความหรูหราที่ล้นเกินตั้งแต่การมีเนินเล่นสกีในร่ม หมู่เกาะที่สร้างด้วยมือมนุษย์ อาคารสูงที่สุดในโลก และความฝันที่จะไปไกลมากกว่านี้ แต่เมื่อเวลาชำระหนี้มาถึง ปัญหาทางการเงินก็ทำหน้าที่สะท้อนความจริง ให้เห็นความหรูหราของสิ่งที่สร้างขึ้นด้วยเงินและเวลาที่หยิบยืมมาล่วงหน้า
สำนักข่าวเอพีรายงานว่าการที่บริษัทดูไบ เวิลด์ ประกาศเลื่อนชำระหนี้ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ มีแนวโน้มจะทำให้นักลงทุนระหว่างประเทศพลอยมองประเทศอื่นในอ่าวเปอร์เซียที่ระมัดระวังในการใช้จ่ายเงิน ด้วยแววตาสงสัยไปด้วย
นักวิเคราะห์ชี้ว่า ครั้งหนึ่งนักลงทุนระหว่างประเทศเต็มใจที่จะเสี่ยงกับบรรดาประเทศในอ่าวเปอร์เซีย ส่วนใหญ่เพราะชาติเหล่านี้ร่ำรวยน้ำมัน แต่วิกฤติการเงินโลกทำให้บรรดานักลงทุนไม่ค่อยเต็มใจเสี่ยงอีกต่อไป และวิกฤติดูไบก็จะยิ่งตอกย้ำให้นักลงทุนมีท่าทีระมัดระวังมากขึ้น
"นักลงทุนต่างชาติจะแบ่งแยกโอกาสการลงทุนในอ่าวเปอร์เซีย โดยพิจารณาว่าประเทศไหนมั่งคั่งน้ำมัน และประเทศไหนไม่มั่งคั่ง" ไซมอน เฮนเดอร์สัน ผู้เชี่ยวชาญพลังงานแห่งสถาบันนโยบายตะวันออกใกล้ของสหรัฐ แสดงทัศนะ
ดูไบต่างจากซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ หรือแม้แต่อาบูดาบี ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เช่นกัน ในแง่ที่ดูไบไม่ได้มั่งคั่งจากน้ำมันมากนัก แต่บริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลซึ่งรู้จักกันในนามดูไบ อิงค์ ได้เข้าไประดมทุนในตลาดสินเชื่อเพื่อนำเงินมาอุดหนุนการเติบโตแบบละลานตา
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รัฐเล็กๆ 1 ใน 7 ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แห่งนี้ แปลงโฉมตัวเองเป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาค แม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว และคนงานต่างชาติ
ดูไบสร้างตึกสูงลิบลิ่วและเนินเขาสำหรับเล่นสกี ทั้งยังสร้างบรรยากาศของการใช้ชีวิตแบบสุดขั้วซึ่งไม่มีในรัฐอื่นของยูเออีและประเทศอื่นในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเกาะรูปต้นปาล์ม หรือเบอร์จ ดูไบ ตึกสูงที่สุดในโลก ซึ่งจะเปิดตัวในเดือนม.ค. แต่วิกฤติสินเชื่อโลกทำให้ฝันเหล่านี้สลาย มีการยกเลิกโครงการต่างๆ ขณะที่คนงานต่างชาติต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้าน ปล่อยให้อาคารหลายหลังสร้างค้างอยู่อย่างนั้น ขณะที่อพาร์ตเมนต์จำนวนมากยังขายไม่ได้ หรืออยู่ในสภาพว่างเปล่า
ภาระหนี้โดยรวมของดูไบที่มีอย่างน้อย 8 หมื่นล้านดอลลาร์ ตอกย้ำความร้ายแรงของฐานะการเงินดูไบ ขณะที่คำกล่าวในเวลาต่อมาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการเงินของดูไบที่ระบุว่าการเลื่อนชำระหนี้เป็นการตัดสินใจทางธุรกิจที่สมเหตุผล และมีการวางแผนอย่างดี ก็ไม่ได้ช่วยบรรเทาความเสียหายมากนัก
เฮนเดอร์สันชี้ว่าเป็นการตัดสินใจที่อหังการมากกรณีที่ประกาศเลื่อนชำระหนี้ก่อนถึงวันขอบคุณพระเจ้าในสหรัฐเพียงวันเดียว และก่อนเทศกาลสำคัญของอิสลาม 3 วัน
"เป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะไม่ตระหนักว่าจะไม่มีคนมองว่าการประกาศดังกล่าวเป็นการสบประมาทประชาคมการเงินโลก" เฮนเดอร์สันระบุ พร้อมเสริมว่าไม่น่าประหลาดใจหากบรรดาเจ้าหนี้จะไม่มีความเห็นใจ
ทั้งนี้ ความวิตกเกี่ยวกับปัญหาหนี้มีมากขึ้น เพราะทางการดูไบไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก นอกจากนั้น การประกาศพักหนี้ยังก่อให้เกิดความวิตกว่าถ้อยคำรับประกันที่ดูไบเอ่ยออกมาในช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ เป็นเพียงความพยายามปกปิดความหนักหน่วงของปัญหาหรือไม่
กระนั้น อย่างน้อยข่าวคราวล่าสุดเกี่ยวกับดูไบก็เป็นเหมือนสัญญาณเตือนหรือการปลุกให้นักลงทุนหันมามองความจริง
"ปัญหาในปัจจุบันของดูไบเป็นผลสืบเนื่องอันยาวนานจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกในโลก มากกว่าจุดเริ่มต้นของวิกฤติการเงินครั้งใหม่" นักวิเคราะห์ของแคปิตอล อีโคโนมิก สรุปในรายงานวิจัย ขณะที่นักวิเคราะห์รายอื่นกล่าวว่าไม่ค่อยสบายใจที่ดูไบไม่ค่อยเปิดเผยเกี่ยวกับสถานะทางการเงิน
ชีคโมฮัมเหมด บิน ราชิด อัลมักทูม เจ้าผู้ครองรัฐดูไบ ไม่สนใจเกี่ยวกับความวิตกเรื่องสภาพคล่องของดูไบมาตลอด ทั้งยังปฏิเสธมาหลายเดือนว่าความตกต่ำทางเศรษฐกิจโลกไม่ได้แม้แต่ระคายรัฐอันหรูหราแห่งนี้ โดยเมื่อ 2 เดือน ชีคมักทูมเพิ่งบอกให้คนที่วิจารณ์ดูไบ "หุบปาก"
นายเฮนริเก ไมเรลเลส ผู้ว่าการธนาคารกลางบราซิล ชี้ว่าการเลื่อนชำระหนี้ของบริษัทในดูไบ เป็นเหมือนสัญญาณเตือนให้หลีกเลี่ยงภาวะของความเพลิดเพลินใจจนลืมตัว เขาเสริมว่าไม่มีธนาคารบราซิลรายใดที่ปล่อยกู้ให้บริษัทดูไบที่ประสบปัญหา
"การฟื้นตัวดำเนินไปอย่างล่าช้า เจ็บปวด และไม่แน่นอน ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายเหตุผลที่ทำให้เราต้องตื่นตัวอยู่เสมอและไม่ลำพองใจเกินไป" นายไมเรลเลสกล่าว
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น