ตัวหลักเลยคือกระทบความเชื่อมั่นของผู้ซื้อและนักลงทุน โครงการเมกกะโปรเจคของโลก สวรรค์ดูไบ จะกลายเป็นสวรรค์ร้างหรือเปล่ายังไม่รู้ ภาพสวรรค์สร้างได้ แต่คนที่จะไปตรงนั้น ตอนนี้ กลายเป็นนักธุรกิจ คนทำงานก่อสร้าง ภาพสวรรค์ลวงตาหายไป อะไรจะเกิดขึ้น คนไทยที่ไปทำงานก่อสร้างล่ะ จะทำงานต่อหรือกลับบ้าน ถ้ากลับมาบ้าน งานที่บ้านก้อยังไม่มีอะไรให้ทำ แล้วจะทำอะไร
วิธีแก้ปัญหา : สร้างภาพลวงตาใหม่ ขุดเลยคอคอดกระ กระทบคนในพรรคบ้าง ก้อช่างมันเถอะ
ข่าวจากเนชั่น
วิกฤติดูไบ บทเรียนนักลงทุน29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 07:28:00
หลายปีที่ผ่านมา ความเฟื่องฟูของดูไบดูเหมือนยั้งไม่อยู่จริงๆ เพราะรัฐแห่งนี้อวดความหรูหราที่ล้นเกินตั้งแต่การมีเนินเล่นสกีในร่ม หมู่เกาะที่สร้างด้วยมือมนุษย์ อาคารสูงที่สุดในโลก และความฝันที่จะไปไกลมากกว่านี้ แต่เมื่อเวลาชำระหนี้มาถึง ปัญหาทางการเงินก็ทำหน้าที่สะท้อนความจริง ให้เห็นความหรูหราของสิ่งที่สร้างขึ้นด้วยเงินและเวลาที่หยิบยืมมาล่วงหน้า
สำนักข่าวเอพีรายงานว่าการที่บริษัทดูไบ เวิลด์ ประกาศเลื่อนชำระหนี้ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ มีแนวโน้มจะทำให้นักลงทุนระหว่างประเทศพลอยมองประเทศอื่นในอ่าวเปอร์เซียที่ระมัดระวังในการใช้จ่ายเงิน ด้วยแววตาสงสัยไปด้วย
นักวิเคราะห์ชี้ว่า ครั้งหนึ่งนักลงทุนระหว่างประเทศเต็มใจที่จะเสี่ยงกับบรรดาประเทศในอ่าวเปอร์เซีย ส่วนใหญ่เพราะชาติเหล่านี้ร่ำรวยน้ำมัน แต่วิกฤติการเงินโลกทำให้บรรดานักลงทุนไม่ค่อยเต็มใจเสี่ยงอีกต่อไป และวิกฤติดูไบก็จะยิ่งตอกย้ำให้นักลงทุนมีท่าทีระมัดระวังมากขึ้น
"นักลงทุนต่างชาติจะแบ่งแยกโอกาสการลงทุนในอ่าวเปอร์เซีย โดยพิจารณาว่าประเทศไหนมั่งคั่งน้ำมัน และประเทศไหนไม่มั่งคั่ง" ไซมอน เฮนเดอร์สัน ผู้เชี่ยวชาญพลังงานแห่งสถาบันนโยบายตะวันออกใกล้ของสหรัฐ แสดงทัศนะ
ดูไบต่างจากซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ หรือแม้แต่อาบูดาบี ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เช่นกัน ในแง่ที่ดูไบไม่ได้มั่งคั่งจากน้ำมันมากนัก แต่บริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลซึ่งรู้จักกันในนามดูไบ อิงค์ ได้เข้าไประดมทุนในตลาดสินเชื่อเพื่อนำเงินมาอุดหนุนการเติบโตแบบละลานตา
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รัฐเล็กๆ 1 ใน 7 ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แห่งนี้ แปลงโฉมตัวเองเป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาค แม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว และคนงานต่างชาติ
ดูไบสร้างตึกสูงลิบลิ่วและเนินเขาสำหรับเล่นสกี ทั้งยังสร้างบรรยากาศของการใช้ชีวิตแบบสุดขั้วซึ่งไม่มีในรัฐอื่นของยูเออีและประเทศอื่นในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเกาะรูปต้นปาล์ม หรือเบอร์จ ดูไบ ตึกสูงที่สุดในโลก ซึ่งจะเปิดตัวในเดือนม.ค. แต่วิกฤติสินเชื่อโลกทำให้ฝันเหล่านี้สลาย มีการยกเลิกโครงการต่างๆ ขณะที่คนงานต่างชาติต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้าน ปล่อยให้อาคารหลายหลังสร้างค้างอยู่อย่างนั้น ขณะที่อพาร์ตเมนต์จำนวนมากยังขายไม่ได้ หรืออยู่ในสภาพว่างเปล่า
ภาระหนี้โดยรวมของดูไบที่มีอย่างน้อย 8 หมื่นล้านดอลลาร์ ตอกย้ำความร้ายแรงของฐานะการเงินดูไบ ขณะที่คำกล่าวในเวลาต่อมาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการเงินของดูไบที่ระบุว่าการเลื่อนชำระหนี้เป็นการตัดสินใจทางธุรกิจที่สมเหตุผล และมีการวางแผนอย่างดี ก็ไม่ได้ช่วยบรรเทาความเสียหายมากนัก
เฮนเดอร์สันชี้ว่าเป็นการตัดสินใจที่อหังการมากกรณีที่ประกาศเลื่อนชำระหนี้ก่อนถึงวันขอบคุณพระเจ้าในสหรัฐเพียงวันเดียว และก่อนเทศกาลสำคัญของอิสลาม 3 วัน
"เป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะไม่ตระหนักว่าจะไม่มีคนมองว่าการประกาศดังกล่าวเป็นการสบประมาทประชาคมการเงินโลก" เฮนเดอร์สันระบุ พร้อมเสริมว่าไม่น่าประหลาดใจหากบรรดาเจ้าหนี้จะไม่มีความเห็นใจ
ทั้งนี้ ความวิตกเกี่ยวกับปัญหาหนี้มีมากขึ้น เพราะทางการดูไบไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก นอกจากนั้น การประกาศพักหนี้ยังก่อให้เกิดความวิตกว่าถ้อยคำรับประกันที่ดูไบเอ่ยออกมาในช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ เป็นเพียงความพยายามปกปิดความหนักหน่วงของปัญหาหรือไม่
กระนั้น อย่างน้อยข่าวคราวล่าสุดเกี่ยวกับดูไบก็เป็นเหมือนสัญญาณเตือนหรือการปลุกให้นักลงทุนหันมามองความจริง
"ปัญหาในปัจจุบันของดูไบเป็นผลสืบเนื่องอันยาวนานจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกในโลก มากกว่าจุดเริ่มต้นของวิกฤติการเงินครั้งใหม่" นักวิเคราะห์ของแคปิตอล อีโคโนมิก สรุปในรายงานวิจัย ขณะที่นักวิเคราะห์รายอื่นกล่าวว่าไม่ค่อยสบายใจที่ดูไบไม่ค่อยเปิดเผยเกี่ยวกับสถานะทางการเงิน
ชีคโมฮัมเหมด บิน ราชิด อัลมักทูม เจ้าผู้ครองรัฐดูไบ ไม่สนใจเกี่ยวกับความวิตกเรื่องสภาพคล่องของดูไบมาตลอด ทั้งยังปฏิเสธมาหลายเดือนว่าความตกต่ำทางเศรษฐกิจโลกไม่ได้แม้แต่ระคายรัฐอันหรูหราแห่งนี้ โดยเมื่อ 2 เดือน ชีคมักทูมเพิ่งบอกให้คนที่วิจารณ์ดูไบ "หุบปาก"
นายเฮนริเก ไมเรลเลส ผู้ว่าการธนาคารกลางบราซิล ชี้ว่าการเลื่อนชำระหนี้ของบริษัทในดูไบ เป็นเหมือนสัญญาณเตือนให้หลีกเลี่ยงภาวะของความเพลิดเพลินใจจนลืมตัว เขาเสริมว่าไม่มีธนาคารบราซิลรายใดที่ปล่อยกู้ให้บริษัทดูไบที่ประสบปัญหา
"การฟื้นตัวดำเนินไปอย่างล่าช้า เจ็บปวด และไม่แน่นอน ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายเหตุผลที่ทำให้เราต้องตื่นตัวอยู่เสมอและไม่ลำพองใจเกินไป" นายไมเรลเลสกล่าว
หวั่น'ดูไบ'จุดชนวนผวา'หนี้ภาครัฐ'โดยเฉพาะปท.รวยที่กู้แหลกสู้วิกฤต | โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ | 30 พฤศจิกายน 2552 07:53 น. | |
|
| สถานที่ก่อสร้างแถบธุรกิจของดูไบ | | | | เอเอฟพี – นักวิเคราะห์ชี้ปัญหา “ดูไบ เวิร์ลด์” ขอพักชำระหนี้ราว 59,000 ล้านดอลลาร์เป็นเวลา 6 เดือน นอกจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศในกลุ่มอาหรับแล้วยังสะเทือนต่อเนื่องถึงรัฐบาลทั่วโลก โดยเฉพาะพวกประเทศร่ำรวยที่พากันก่อหนี้สาธารณะและทุ่มใช้จ่ายอย่างหนักเพื่อแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอย และขณะนี้ก็ใกล้ถึงเวลาต้องเริ่มชำระหนี้มหาศาลเหล่านั้นแล้ว องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) เตือนว่าประเทศอุตสาหกรรมของโลกทั้ง 30 ประเทศ กำลังจะได้เห็นภาระหนี้สินของพวกตนเพิ่มทวีขึ้นจนเท่ากับ100 %ของยอดส่งออกในปี 2010 ซึ่งเกือบเป็นสองเท่าตัวของเมื่อ 20 ปีก่อน คาดการณ์กันว่าหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นจะแตะระดับ 200 %ของยอดส่งออกในปีหน้า ขณะที่อิตาลีและกรีซจะอยู่ในราว 127.3 และ 111.8 %ตามลำดับ ทางด้าน มูดีส์ บริษัทเครดิตเรตติ้งระดับโลก ก็เผยรายงานพยากรณ์เมื่อวันพุธ (25) ว่าอัตราส่วนหนี้สินต่องบประมาณประเทศของทั่วทั้งโลกจะเพิ่มขึ้นราว 45 % ในช่วงระหว่างปี 2007-2010 หรือคิดเป็นตัวเลขของยอดหนี้รวมที่เพิ่มขึ้น ก็จะอยู่ที่ประมาณ 15.3 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้ยอดหนี้สาธารณะรวมทั่วโลกในปี 2010 จะอยู่ในระดับสูงกว่า 49 ล้านล้านดอลลาร์ โดยในยอดหนี้รวมที่เพิ่มขึ้น 45% ดังกล่าวนี้ กว่าสามในสี่จะเป็นของกลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ (จี 7) เนื่องจากดุลบัญชีการคลังของชาติเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกหนักที่สุด “เนื่องจากในปี 2009 ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอัตราการเจริญเติบโตติดลบ ดังนั้นภาระหนี้สินโดยเปรียบเทียบ จึงกำลังเป็นภาระที่ต้องแบกรับด้วยความยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ” ไฮเม รอยเชอร์ นักวิเคราะห์ของมูดีส์ชี้ ขณะที่ ซินเซีย อัลซิดี นักเศรษฐศาสตร์แห่งศูนย์นโยบายศึกษาของยุโรปในกรุงบรัสเซลส์กล่าวว่า การที่ประเทศใดมีหนี้สาธารณะเป็นสัดส่วน 100 %ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ก็แปลว่าผลผลิตทั้งหมดที่ผลิตได้ตลอดทั้งปีนั้นจะเป็นส่วนที่ต้องนำไปชำระหนี้ คำถามก็คือว่า “รัฐบาลทั้งหลายอยู่ในฐานะที่จะทำเช่นนั้นได้หรือไม่” สิ่งที่น่าหวาดหวั่นก็คือ หากตลาดการเงินเริ่มสงสัยถึงศักยภาพของประเทศต่างๆ ในการชำระหนี้ขึ้นมา พวกนักลงทุนก็จะพากันเทขายตราสารหนี้ภาครัฐทิ้ง เช่น พวกพันธบัตรรัฐบาลต่างๆ และนั่นจะทำให้รัฐบาลไม่มีเงินสดสำหรับใช้จ่าย นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งเตือนว่า รัฐบาลที่มีหนี้สินสูงมากจะมีปัญหาเรื่องอันดับความน่าเชื่อถือตามมา ซึ่งทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมเงินต้องเพิ่มสูงขึ้นอีก สถานการณ์ดังกล่าว จะทำให้รัฐบาลมีความโน้มเอียงที่จะยอมขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้แก่พวกเจ้าหนี้ของประเทศ และนั่นก็ยิ่งทำให้ภาระหนี้ของรัฐบาลยิ่งสูงขึ้นไปอีก “นี่ก็คือวิธีการในการทำระเบิดหนี้สิน” มิเชล อะกลิเอตตา แห่งกลุ่มวิจัย เซปิอี กล่าว แดเนียล เฟอร์มอน นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโซซิเยเต เจเนราล เตือนว่า “ในกรณีร้ายแรงที่สุดนั้น” ระเบิดหนี้สินจะจุดชนวนให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยรอบใหม่ขึ้นมา ดังนั้น โดยหลักการแล้ว การกลับไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งจึงจะต้องลดการกู้ยืมภาครัฐลง ถึงแม้พวกนักเศรษฐศาสตร์ต่างเตือนว่าในสภาพการณ์ปัจจุบันจะยังทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะอ่อนแอก็ตาม ภาระหนี้สินอาจบรรเทาลงได้บ้าง ถ้าอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าอัตราดอกเบี้ย ทว่า หากปล่อยให้เกิดเงินเฟ้อสูงมากก็จะบั่นทอนการใช้จ่ายของผู้บริโภค และส่งผลให้ “ทุนภาคเอกชนหนีไปอยู่ในมือของประเทศที่มีภาวะเงินเฟ้อต่ำกว่า” ทางแก้ปัญหาดังกล่าวก็คือ “เพิ่มภาษีหรือลดการใช้จ่ายภาครัฐลง” แต่ทั้งโออีซีดีและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ต่างก็ย้ำว่าหากภาครัฐหยุดการใช้จ่ายเร็วเกินไป ก็จะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีปัญหาเช่นกัน
| |